รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน เข้ารับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างให้เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันหมายถึงเครื่องประดับเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของพระราชา และทรงจัดไว้ในกลุ่มเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จกล้าหาญ เพื่อพระราชทาน แก่ผู้ใช้ความกล้าทางปัญญาความรู้ให้เป็นคุณแก่แผ่นดิน นับเป็นครั้งแรกที่ผู้มีความสามารถในศิลปวิทยา จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นพิเศษเช่นนี้ ทั้งเป็นการสนองพระบรมราโชบาย ในการพัฒนาความรู้เพื่อปรับปรุงประเทศ ให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาอารยประเทศ …”

“… และเมื่อพินิจถึงหลักเกณฑ์การพระราชทาน ก็จะเห็นได้ว่ามีหลักอันเข้มงวด ต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่นๆ คือ จะพระราชทานเฉพาะผู้มีฝีมืออย่างเอกอุ อันเป็นคุณประโยชน์ต่อแผ่นดิน ที่ไม่มีผู้ใดทำได้เสมอ หรือ ดีกว่า  …”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร จึงได้มีพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พุทธศักราช2484  กำหนดเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ขึ้นใหม่โดยเฉพาะสำหรับพระราชทานแก่ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา อันได้แสดงให้เห็นประจักษ์เป็นพิเศษแล้ว ซึ่งจะได้พระราชทานตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร เหรียญและเข็มคงมีรูปลักษณะเช่นเดิม

ปัจจุบันระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พุทธศักราช2521 แก้ไขเพิ่มเติม มีสาระสำคัญแห่งระเบียบนี้มีว่า เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นเหรียญซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้พระราชทานเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา อันได้แสดงให้ประจักษ์เป็นพิเศษว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติ

ในการขอพระราชทานให้คำนึงอย่างรอบคอบถึงกรณีความชอบที่ได้ใช้ศิลปวิทยาเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติว่ามีลักษณะถึงขนาดควรจะได้บำเหน็จเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ทั้งนี้ เพื่อให้เหรียญนี้ทรงไว้ซึ่งเกียรติอันสูงและเป็นที่ภาคภูมิใจแก่ผู้ได้รับพระราชทานทายาท ครอบครัว และวงศ์ตระกูลผู้ซึ่งจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา จะต้องมีผลงานประการใดประการหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) คิดค้นความรู้ ระบบ กรรมวิธี หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่เป็นผลสำเร็จ

(๒) ปรับปรุงความรู้ ระบบ กรรมวิธี หรือสิ่งประดิษฐ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก

(๓) ได้แสดงให้เป็นที่ปรากฏว่ามีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา

ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวต้องแสดงให้ประจักษ์เป็นพิเศษว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติ

การพิจารณาผลงานของผู้ซึ่งสมควรจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เช็มศิลปวิทยา ให้พิจารณาตามสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง หรือหลายสาขาร่วมกัน ดังนี้ (๑) มนุษยศาสตร์ (๒) ศึกษาศาสตร์ (๓) วิจิตรศิลป์ (๔) สังคมศาสตร์ (๕) นิติศาสตร์ (๖) วิทยาศาสตร์ (๗) วิศวกรรมศาสตร์ (๘) แพทยศาสตร์ (๙) เกษตรศาสตร์ หรือ (๑๐) สาขาวิชาการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พิจารณาเห็นสมควร

ให้คณะกรรมการเสนอผลการพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว จึงให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอเรื่องไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานต่อไป

ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2552 มี 4 สาขาดังนี้

สาขานิติศาสตร์

  • นายไชยยศ  เหมะรัชตะ

สาขาวิทยาศาสตร์  มีอยู่ 3 คน

  • รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
  • นายสุทัศน์ ฟู่เจริญ
  • นายสกล พันธุ์ยิ้ม

สาขาวิศวกรรมศาสตร์

  • นายสมชาย วงศ์วิเศษ
  • นายอรุณ ชัยเสรี

สาขาแพทย์ศาสตร์

  • นายวินัย สุรัตถี
  • นายสุนทร ตัณฑนันทน์

“เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปะวิทยา นับว่าเป็นรางวัลเกียรติยศและเป็นปลื้มปิติสำหรับเหลาบรรดามุสลิม นับว่าเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สูงที่สุด สำหรับเหลาพลเรือน ในการนี้รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯนับเป็นผู้มีอายุน้อยที่สุดที่เข้ารับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” และในเย็นวันนั้นได้มีนักวิทยาศาสตร์อาเซียนแสดงความยินดีกับรศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ร่วมถึงคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ นำโดย ผศ.ดร.วนิดา นพพรพันธุ์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มาร่วมแสดงความยินดีด้วย

Message us