ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ฮาลาลระดับโลกจากมาเลเซีย

ประเทศไทยนับเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลรายสำคัญในโลก โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีส่วนแบ่งในตลาดอาหารฮาลาลโลกซึ่งมีมูลค่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐสำหรับประชากรมุสลิม 1,800 ล้านคน เป็นอันดับที่ 5-6 อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดดังกล่าวนับวันยิ่งทวีความซับซ้อน มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลหลายแขนงสนับสนุนงานการผลิตและการรับรองฮาลาลมากขึ้น โดยงานหนึ่งที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญคืองานโลจิสติกส์และการทวนสอบย้อนกลับฮาลาลซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อสร้างความมั่นใจด้านคุณภาพและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคมุสลิม โดยในกิจกรรมด้านนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาระบบ SILK หรือ Shariah-compliant ICT Logistics Kontrol ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อควบคุมโลจิสติกส์ตามหลักศาสนบัญญัติอิสลามขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา แบ่งการพัฒนาซอฟท์แวร์ในกิจกรรมดังกล่าวออกเป็นหลายโมดูล หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาระบบตรวจติดตามตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าฮาลาลโดยใช้บาร์โค้ดชนิดสองมิติ (2 D Barcode) ซึ่งเป็นระบบที่ประหยัดกว่าการใช้ระบบ RFID (Radio Frequency Identification) ที่นิยมใช้กันอยู่อีกทั้งสะดวกกว่าเนื่องจากใช้เพียงโทรศัพท์มือถือในการอ่านรหัสไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสแกนเนอร์ซึ่งมีราคาแพงและจัดหาได้ยาก หลังจากทราบรหัสของ 2D Barcode แล้วจึงติดต่อทางออนไลน์จากทั่วโลกเข้ามาที่ SILK Cloud Office ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลชั้น 12 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อขอข้อมูลรายละเอียดและสภาพความเป็นฮาลาลของสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลดำเนินงานดังกล่าวในรูปงานวิจัยเรื่อง “Two-Dimensional Barcode Application Incorporated with Najis Cleaning Procedure for Preparation of Promising HAL-Q Halal Logistics and Traceability System” นำเสนอเข้าสู่การประกวดนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลโลกในงาน World Halal Research Summit 2012 ณ ประเทศมาเลเซีย และได้รับการคัดเลือกให้เป็น “สุดยอดนวัตกรรม” โดยได้รับโล่เกียรติยศจาก Dato’ Seri Mustapa Bin Mohamed รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) ของมาเลเซียเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 โดยก่อนหน้านี้ Dato’ Mukhriz bin Tun Dr. Mahathir รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นบุตรชายของ Tun Dr. Mahathir Mohamad อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานเปิดงาน ได้กล่าวชื่นชมนวัตกรรมดังกล่าวว่าจะมีผลให้ผู้บริโภคมุสลิมทั้งในมาเลเซียและทั่วโลกเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากในแต่ละปีประเทศไทยขนส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลผ่านระบบตู้คอนเทนเนอร์เข้าสู่ประเทศมาเลเซียอีกทั้งไปทั่วโลกจำนวนมาก

งาน World Halal Research Summit 2012 (WHR 2012) จัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 5 โดยจัดภายในช่วงสัปดาห์ฮาลาลมาเลเซียภายใต้แนวคิด “Innovation Catalyst as Business Transformation” มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้มาเลเซียเป็นผู้นำทางด้านฮาลาลของโลก งานนี้จัดโดย Halal Industry Development Corporation (HDC) ของรัฐบาลมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2555 ณ ศูนย์ประชุม Kuala Lumpur Convention Center (KLCC) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ภายในงานมีการจัดแสดงโปสต์เตอร์ การประกวดผลงานนวัตกรรม และการแสดงบูทนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตลอดจนการจัดประชุมเชิงวิชาการ โดยมีนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักอุตสาหกรรม และนักธุรกิจ มากกว่าพันคนจากกว่าสี่สิบประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน

งานดังกล่าวในปี 2554 ที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานวิจัยถึงสองรางวัล การได้รับรางวัลในปี 2555 ครั้งนี้จึงเป็นสิ่งยืนยันความเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยภายใต้การดำเนินงานของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในปีนี้ ศูนย์ฯได้ส่งนวัตกรรมเข้าร่วมแสดงนิทรรศการอีก 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ “Anada’s Scent of Clay” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อุปโภคและเครื่องสำอางตามแนวทางศาสนาอิสลาม 6 ชนิดและ “Sunnah Snack” ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารว่างและขนมขบเคี้ยวตามแนวทางศาสดามูฮำหมัด เป็นผลให้บูทนิทรรศการของศูนย์ฯได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงานอย่างคับคั่ง

Message us