HAL-Q

เหตุใดต้องวางระบบมาตรฐานความปลอดภัย

ประเทศไทยในฐานะประเทศส่งออกที่มีมูลค่าการส่งออกสูงกว่าร้อยละ 60 ของผลผลิตมวลรวมของชาติ (GDP) ให้ความสนใจตลาดฮาลาลโลกมากขึ้นเนื่องจากมูลค่าตลาดสูงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เฉพาะอาหารมีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกน้อยมาก   ความสำเร็จเกิดขึ้นต่อเมื่อนักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมเข้าใจจิตวิทยาการตลาดและผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่มีอยู่กว่า 1,800 ล้านคนทั่วโลก

ฮาลาลหมายถึงสิ่งที่อนุมัติให้มุสลิมบริโภคได้อย่างปลอดภัย ทั้งกายภาพและจิตวิญญานจึงจำเป็นต้องปราศจากการปนเปื้อนสิ่งต้องห้าม (หะรอม)หลักศรัทธาในศาสนาอิสลามกำหนดว่าการบริโภคสิ่งหะรอมเป็นอันตรายต่อศรัทธา ในขณะที่ความซับซ้อนของวัตถุดิบและกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมก่อความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนหะรอมมากขึ้น ผู้บริโภคมุสลิมจึงใส่ใจในมาตรฐานฮาลาลปลอดภัย การตรวจสอบรับรองฮาลาลที่มีคุณภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค โดยมาตรฐานฮาลาลกำหนดให้ระบบความปลอดภัย เช่น SOP, GMP, HACCP ฯลฯ เป็นพื้นฐาน เหตุนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์    ฮาลาลจึงบูรณาการระบบปลอดภัยเข้ากับมาตรฐานฮาลาลเกิดเป็นระบบ Halal-GMP/HACCP พัฒนาก้าวหน้าขึ้นกระทั่งเป็นระบบ HAL-Q

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลของประเทศ ภายใต้แนวคิด “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” มุ่งมั่นพัฒนา “วิทยาศาสตร์ฮาลาล อัตลักษณ์ประเทศไทย” (Halal Science-Thailand Signature) นำไปสู่การยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมและธุรกิจ  ฮาลาลของประเทศกระทั่งกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลทั่วโลก

ศูนย์ฯพัฒนาระบบ HAL-Q ขึ้นรวมถึงพัฒนาระบบ SILK (Shariah-compliant ICT Logistics Kontrol) ซึ่งได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมในงาน World Halal Research Summit ในปี 2555 เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทาน ฮาลาล โลจิสติกส์และการทวนสอบย้อนกลับ เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับระบบ HAL-Q สร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน (Competitive advantage) ให้กับอุตสาหกรรมที่นำระบบ HAL-Q ไปประยุกต์ใช้

การชำระล้างนญิสนั้น เป็นสิ่งที่ชาวอิสลามต้องยึดถือปฎิบัติตามหลักบัญญัติศาสนาอิสลาม โดยได้บัญญัติไว้ว่า ต้องชำระล้างนญิสให้หมดเสียก่อนแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่าน 7 ครั้ง แต่ 1 ใน 7 ครั้งนั้นต้องเป็นน้ำดินที่สะอาดตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามและมีสภาพขุ่นแขวนลอยหรือน้ำดินสอพองก็ได้แต่เนื่องจากในยุคปัจจุบันดินมีการปนเปื้อนมากขึ้นทำให้การนำดินชำระล้างนญิสออกเป็นไปด้วยความยุ่งยากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้เกิดแนวคิด “สบู่ดิน” ขึ้นมา ภายใต้ชื่อ ANADA และ HAL-KLEAN โดยในปัจจุบันได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังประเทศอินโดนีเซียและอยู่ในช่วงต่อยอดผลิตภัณฑ์แชมพู สบู่ก้อน และครีมทาผิว

HAL-Q เป็นระบบการบริหารจัดการเพื่อการผลิตอาหารฮาลาล โดยการบูรณาการมาตรฐานฮาลาลเข้ากับระบบความปลอดภัยอาหารในการผลิตอาหารฮาลาลให้ถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติศาสนาศาสนาอิสลาม สะอาด และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคมุสลิมมั่นใจในอาหารฮาลาลที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมว่าไม่มีการปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามทางศาสนาและวิธีการผลิตเป็นไปตามบทบัญญัติศาสนาศาสนาอิสลาม ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพในมิติต่างๆ รวมทั้งความปลอดภัยทางจิตวิญญาณด้วย

การพัฒนาคิดค้นระบบเกิดขึ้นเป็นลำดับจาก Halal-GMP/HACCP จนกระทั่งเป็นระบบ Hal-Q โดยเป็นระบบที่คิดค้นขึ้นเองโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับคำชื่นชมและยกย่องจากนานาประเทศเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันมีโรงงานเข้าร่วมกว่า 110 โรงงานทั่วประเทศ ครอบคลุมแรงงานกว่า 100,000 คน


HAL-Q ย่อมาจาก

H  =   Halal (ความสะอาดปลอดภัยของอาหารฮาลาล)
A  =   Assurance (การรับประกัน ความมั่นใจในอาหารฮาลาลที่ผลิต)
L   =   Liability (การยอมรับผิด/การรับผิดชอบในอาหารฮาลาลที่ผลิต)
Q  =  Quality (คุณภาพของอาหารฮาลาล)

HAL-Q ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ Halal-GMP และ Halal-HACCP

1.Halal-GMP
เป็นการบรูณาการมาตรฐานฮาลาลเข้ากับระบบ GMPซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีเพื่อใช้ในการผลิตอาหารฮาลาลในโรงงานอุตสาหกรรม

2.Halal-HACCP
เป็นการบรูณาการมาตรฐานฮาลาลเข้ากับระบบHACCPโดยการเฝ้าระวังสิ่งต้องห้ามทางศาสนาอิสลามหรือหะรอมเพิ่มเข้าไปในอันตรายที่ต้องวิเคราะห์ในความปลอดภัยอาหารที่กำหนดขึ้นนอกเหนือจากอันตรายทั้ง 3 ด้านได้แก่อันตรายทางกายภาพ อันตรายทางชีวภาพ อันตรายทางเคมีและกำหนดจุดควบคุมวิกฤติหะรอมขึ้น(HaramCCP)ทั้งนี้ทางโรงงานที่เข้าร่วมต้องมีการจัดทำระบบพื้นฐาน GMP มาก่อน เป็นที่น่ายกย่องว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมิใช่ประเทศมุสลิมแต่สามารถพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตและการตรวจสอบสินค้าฮาลาลจนเป็นที่ยอมรับจากประเทศมุสลิม


โอกาสทางด้านความร่วมมือกับเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย

ปัจจุบันเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยได้มีระบบตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและอาหารฮาลาลโดยใช้ชื่อว่า”ศูนย์รับรองอาหารฮาลาลนานาชาติหนิงเซี่ย” ซึ่งเริ่มตั้งมาตั้งแต่ปี 2008 โดยภาระหน้าที่หลักของศูนย์คือ ภายใต้การแนะนำของคณะกรรมการแห่งชาติ มีหน้าที่ดูแลและพัฒนามาตรฐานฮาลาล รวมไปถึงส่งเสริมความร่วมมือการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าและอาหารฮาลาลกับประเทศมุสลิม โดยปัจจุบันศูนย์ผ่านมาตรฐาน ISO/IEC17025:2005 จากสภาคณะกรรมการแห่งชาติจีนแล้ว

ศูนย์แห่งนี้เป็นหน่วยงานเดียวในจีนที่ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล และได้มีบันทึกความเข้าใจกับหน่วยงานด้านดังกล่าวในประเทศผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลที่สำคัญๆ แล้วเช่นประเทศมาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ล่าสุดได้มีการลงนามเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลร่วมกันระหว่าง UAE และศูนย์รับรองอาหารฮาลาลนานาชาติหนิงเซี่ย หลังจากคณะผู้แทนจากเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยได้เข้ารับฟังบรรยายของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงระบบ Hal-Q ที่ทางศูนย์คิดค้นขึ้นเอง ก็ได้ประสงค์ที่จะให้มีการร่วมมือกับไทยในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิธีการตรวจสอบรวมไปถึงการใช้ตรา HAL-Q บนสินค้าส่งออกของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของแนวทางความร่วมมือ

ความเป็นมาและเกียรติยศของ HAL-Q

พ.ศ.2541 ดร.วินัย ดะห์ลัน อาจารย์คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอแนวคิดการวางระบบอาหารฮาลาลปลอดภัยแก่ครัวการบินไทยเพื่อการจัดเตรียมอาหารในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13

พ.ศ.2542 ดร.วินัย ดะห์ลัน ร่วมกับสถาบันอาหารจัดทำหนังสือ Halal-HACCP ขึ้นเป็นครั้งแรก

พ.ศ.2547 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลนำระบบ Halal-HACCP ไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม พัฒนาเป็นระบบ Halal-GMP/HACCP กระทั่งเป็นระบบ HAL-Q

พ.ศ.2549 HAL-Q รับรางวัล Best Innovation in Halal Industry จากนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

พ.ศ.2552 HAL-Q รับรางวัล Recognition Award for Halal Achievement จากประเทศฟิลิปปินส์

พ.ศ.2554 HAL-Q รับรางวัลชนะเลิศในงานประชุมสุดยอดวิจัยฮาลาลโลก ณ ประเทศมาเลเซีย

พ.ศ.2555 ต่อเชื่อมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ SILK เข้ากับ HAL-Q เป็นครั้งแรก HAL-Q กลายเป็นระบบที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม 250 แห่ง ครอบคลุมคนงานกว่าแสนคน

Message us